ชื่อแหล่ง : ปราสาทตาเมือนธม Prasat Ta Muan Thom

ขึ้นทะเบียน

08-03-2478

ประกาศในราชกิจจานุเบกษา

เล่มที่ 52 ตอนที่ 75 หน้า 3712

ที่อยู่

บ้านหนองคันนา ตำบลตาเมียง อำเภอพนมดงรัก จังหวัดสุรินทร์

ละติจูด

14°21′00″องศาเหนือ

ลองจิจูด

103°16′12″องศาตะวันออก

ประเภท

ปราสาทหินทราย

อายุ

พุทธศตวรรษที่ 16-17 (บาปวน)

วัตถุประสงค์

เทวสถาน

ทิศทางการวางตัว

10.6 องศาตะวันตก

ความสาคัญของแหล่ง

“ธม” แปลว่า “ใหญ่” เป็นปราสาทขนาดใหญ่ที่สุดในกลุ่มปราสาทตาเมือน บนแนวเทือกเขาพนมดงรัก ประกอบด้วยปรางค์สามองค์ มีปรางค์ประธานขนาดใหญ่ที่สุดอยู่ตรงกลาง ปรางค์อีกสององค์อยู่ถัดไปด้านหลังทางด้านขวาและซ้าย ปรางค์ทั้งสามองค์สร้างด้วยหินทรายหันหน้าไปทางทิศใต้ ที่ปรางค์ประธานประดิษฐานศิวลึงค์ โดยเป็นลึงค์ที่เกิดขึ้นเอง ที่เรียกว่า “สวายัมภูวลึงค์” ซึ่งเป็นศิวลึงค์ที่สำคัญที่สุดของลัทธิไศวนิกาย โดยรอบปรางค์ประธานมีลวดลายจำหลักที่งดงาม แม้ว่าจะถูกลักลอบทำลายและทรุดโทรมไปตามกาลเวลา ทางด้านตะวันออกและตะวันตก มีวิหารสองหลังสร้างด้วยศิลาแลง อาคารทั้งหมดมีระเบียงคดซึ่งสร้างด้วยหินทรายล้อมรอบ มีโคปุระทั้งสี่ด้าน โคปุระด้านใต้มีขนาดใหญ่ที่สุดและมีบันไดทางขึ้นจากเชิงเขาด้านนั้น นอกระเบียงคดทางด้านทิศเหนือมีสระน้ำและที่ลานริมระเบียงคดทางมุขด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้มีศิลาจารึกภาษาขอม กล่าวถึงชื่อ พระกัลปกฤษณะ(คณะกรรมการฝ่ายประมวลเอกสารและ จดหมายเหตุ 2544 : 54)  จึงสันนิษฐานได้ว่า โบราณสถานแห่งนี้คงจะสร้างขึ้นเนื่องในศาสนาพราหมณ์ จากลักษณะทางสถาปัตยกรรมและลวดลายจำหลักต่าง ๆ ทำให้ทราบได้ว่า โบราณสถานแห่งนี้คงจะสร้างขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่ 16 ซึ่งเก่าแก่กว่าโบราณสถานอีกสองแห่งในกลุ่มปราสาทตาเมือน ปัจจุบันการเข้าไปชม โบราณสถานกลุ่มปราสาทตาเมือน(ปราสาทตาเมือน ปราสาทตาเมือนโต๊จและปราสาทตาเมือนธม) สามารถทําได้สะดวก เพราะมีถนนลาดยางเข้าไปจนถึงตัว ปราสาทตาเมือนธม แต่ทั้งนี้จะต้องอยู่ในการดูแลของเจ้าหน้าที่ตํารวจตระเวณชายแดนที่ 21 ด้วย เพื่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน เพราะโบราณสถานอยู่ในป่าลึกติดกับชายแดนประเทศ กัมพูชา ส่วนด้านสภาพแวดล้อมโดยรอบของโบราณสถานกลุ่มปราสาทตาเมือนนี้ ได้รับการบูรณะ ตกแต่งไว้แล้วอย่างสวยงาม ทั้ง 3 แห่ง

หลักฐานทางโบราณคดี

1.ตัวปราสาท              2.ซุ่มโคปุระ                3.ระเบียงคต

ปัจจัยการเปลี่ยนแปลง

ปราสาทตาเมือนธม เป็นปราสาทองค์เดียวตั้งภายในบริเวณพื้นที่พิเศษแถบชายแดนไทย – กัมพูชา เป็นปราสาทที่อยู่ติดกับชายแดนกัมพูชาที่สุดปัจจุบันสภาพทางกายภาพทรุดโทรม ป้ายระบุตำแหน่งชำรุด ขาดการซ่อมแซมให้อยู่ในสภาพที่ดี อยู่ห่างจากเขตชุมชน เส้นทางและการเข้าถึงแหล่งยากลำบาก ภูมิทัศน์ถูกจัดการโดยทหารรักษาดินแดน มีการส่งเสริมการท่องเที่ยวเป็นระยะ จากความสำคัญของแหล่ง ปัจจุบันมีสภาพที่ทรุดโทรม หลังจากเกิดเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง ที่ส่งผลกระทบต่อบริเวณชายแดน ปัจจุบันเพื่อความปลอดภัย ได้มีมาตรการเพื่อควบคุม ดูแล ทั้งตัวปราสาท และนักท่องเที่ยวอย่างเข้มข้น โดยมีการวางกำลังทหาร ในบริเวณรอบปราสาท เพื่อเป็นการเฝ้าระวังตลอดเวลา

แผนที่

อัลบั้มภาพ