ชื่อแหล่ง : ปราสาทนางบัวตูม Prasat Nang Bua Tum
ขึ้นทะเบียน
09-04-2544
ประกาศในราชกิจจานุเบกษา
เล่มที่ 118 ตอนที่ 33ง.
ที่อยู่
บ้านสระถลา ตำบลท่าตูม อำเภอท่าตูม จังหวัดสุรินทร์
ละติจูด
15°18′36″ องศาเหนือ
ลองจิจูด
103°38′24″ องศาตะวันออก
ประเภท
ปราสาทศิลาแลง
อายุ
พุทธศตวรรษที่ 16-17 (บาปวน)
วัตถุประสงค์
เทวสถาน
ทิศทางการวางตัว
19.6 องศาตะวันตก
ความสาคัญของแหล่ง
เป็นปราสาทก่อด้วยศิลาแลง 3 หลัง และตั้งอยู่บนฐานศิลาแลงรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าเดียวกัน เรียงกันในแนวเหนือ-ใต้ มีบันไดทางขึ้นด้านทิศตะวันออก และมีประตูหลอกอีก 3 ด้าน ทำด้วยหินทรายเสาประดับกรอบประตูไม่สลักลวดลาย ส่วนที่ประตูทางเข้าสลักรูปดอกบัวอยู่ในกรอบสี่เหลี่ยมจัตุรัส เสาประดับกรอบประตูทางเข้าสลักลวดลาย พื้นธรณีประตูมีลวดลาย นอกจากนี้ยังมีทับหลังศิลาทรายสลักอีก 3 ชิ้น และแท่นประติมากรรมหินทราย (คณะกรรมการฝ่ายประมวลเอกสารและจดหมายเหตุ, 2544 :หน้า51-52) โดยมีเรื่องเล่าที่เล่าต่อกันมาว่า ปราสาทนางบัวตูม เป็นที่อยู่อาศัยของฤาษีตนหนึ่ง วันหนึ่งฤาษีได้เก็บทารกได้คนหนึ่ง นอนอยู่ในดอกบัว ฤาษีจึงนำมาเลี้ยงไว้ และให้ชื่อว่านางบัวตูม นางบัวตูมเติบใหญ่ โตเป็นสาว จึงได้เด็ดดอกลำดวนมาเสี่ยงทายลอยไปตามน้ำเพื่อหาคู่ครอง ท้าวโสวัฒน์เป็นผู้เก็บดอกไม้ของนางได้ จึงได้ขี่ม้าออกตามหานาง และพบรักกันในที่สุด ต่อมาท้าวโสวัฒน์จะพานางบัวตูมกลับไปเยี่ยมเมืองพิมาย บ้านเมืองของพระองค์ จึงขอลาฤาษีกลับไป ขณะเดินทางกลับทั้งสองได้พบพรานเจตบุตร พรานเจตบุตรเห็นนางบัวตูม เกิดหลงรักในความงามของนาง จึงฆ่าท้าวโสวัฒน์ และได้นางบัวตูมมาเป็นภรรยา เมื่อพรานเจตบุตรเผลอ นางบัวตูมจึงได้ลอบฆ่าพรานเจตบุตร และหนีออกมาริมฝั่งแม่น้ำมูลมาพบลูกเรือ ลูกเรือจึงพานางบัวตูมลงเรือ และนำไปให้นายเรือ แต่นางบัวตูมบอกว่าตนตั้งครรภ์ เมื่อคลอดบุตรแล้วจึงจะอยู่ด้วย ลูกเรือต่างพากันเลี้ยงฉลองเมาหลับไป นางบัวตูมจึงแอบขโมยเรือเล็กหนีออกมา ฝ่ายฤาษีเกิดสังหรณ์ใจ จึงเดินทางตามหานางบัวตูม และท้าวโสวัฒน์ เพื่อพบศพท้าวโสวัฒน์ จึงช่วยชุบชีวิตให้ฟื้นขึ้น และออกตามหานางบัวตูมไปถึงเมืองยักษ์เมืองหนึ่ง ท้าวโสวัฒน์ได้พบกับลูกสาวยักษ์ และเกิดรักใคร่ได้เสียกันขณะที่ยักษ์ไม่อยู่เมืองเมื่ออยู่ในเมืองยักษ์ท้าวโสวัฒน์ได้พบม้าของพระองค์ที่ยักษ์จับมาขังไว้ จึงให้ลูกสาวยักษ์ช่วยนำม้าออกมา และเหาะหนีไป พอดียักษ์กลับมาจึงต่อสู้กัน ยักษ์สู้ไม่ได้ ท้าวโสวัฒน์จึงหนีไปได้ ฝ่ายลูกสาวยักษ์วิ่งตามมาถึงแม่น้ำ แต่ข้ามไม่ได้ จึงเกาะขอนไม้ที่ลอยผ่านมา พอดีนางบัวตูมพายเรือผ่านมาจึงเข้าช่วยเหลือ เพื่อพูดคุยกันจึงรู้ว่ามีสามีคนเดียวกัน จึงช่วยกันตามหาท้าวโสวัฒน์ ขณะนั้นนางบัวตูมเจ็บครรภ์ และคลอดลูกเป็นผู้ชาย แต่ด้วยกรรมที่นางได้ฆ่าพรานเจตบุตร พรานเจตบุตรได้กลายเป็นงูมาฆ่านางบัวตูม นางยักษ์จึงเลี้ยงดูบุตรของนางบัวตูมแทน ต่อมานางยักษ์ก็คลอดลูกชายเช่นกัน จึงนำโอรสทั้งสองออกตามหาท้าวโสวัฒน์ พร้อมกับนำเถ้ากระดูกนางบัวตูมไปด้วย วันหนึ่งขณะที่เด็กที่เด็กทั้งสองเล่นกันอยู่ ได้ไปพบม้าของท้าวโสวัฒน์ จึงนำไปขี่เล่น ท้าวโสวัฒน์โกรธมาก จึงเกิดการต่อสู้กัน เด็กทั้งสองยิงลูกธนูใส่ท้าวโสวัฒน์ ลูกธนูกลับกลายเป็นลูกธนูเทียน พอท้าวโสวัฒน์ยิงกลับมา ธนูกลับกลายเป็นขนม ดังนั้นจึงไถ่ถาม และทราบว่าเป็นลูกของตนในที่สุด จึงพากันกลับไปหาแม่ และไปหาฤาษีที่ปราสาท และให้ฤาษีชุบชีวิตนางบัวตูมขึ้นมาอีกครั้ง และได้อาศัยอยู่ด้วยกันอย่างมีความสุขที่ปราสาท
หลักฐานทางโบราณคดี
ทับหลังศิลาทรายจำนวน 3 ชิ้น มีโครงสร้างลวดลายที่เหมือนกันคือ ท่อนพวงมาลัย ออกมาจากกึ่งกลางเบื้องล่าง วกออกมาที่กลางทับหลังแล้วพุ่งออกไปยังที่ปลายทั้งสองเป็นใบไม้ม้วนทั้งสองข้าง เหนือใบไม้ม้วนเป็นใบไม้สามเหลี่ยม ใต้ท่อนพวงมาลัยเป็นใบไม้ม้วน เหนือท่อนพวงมาลัยเป็นใบไม้สามเหลี่ยมตั้งขึ้น ที่กึ่งกลางทับหลังมีภาพสลักเล่าเรื่อง ลักษณะเช่นนี้จึงสามารถกำหนดอายุได้ว่าตรงกับศิลปะขอมแบบบาปวน อายุราวกลางพุทธ
1.ตัวปราสาท 3หลัง 2.ทับหลัง 3.โคปุระ
ปัจจัยการเปลี่ยนแปลง
ปราสาทนางบัวตูม เป็นปราสาทภายในวัดบ้านปราสาท ได้รับการบูรณะจากทางกรมศิลปากรเพื่อเป็นสัญลักษณ์ของตำนานนิทานในลุ่มน้ำมูล ปัจจัยการเปลี่ยนแปลง ด้านกายภาพ มีการบูรณะปราสาทนางบัวตูมจากกรมศิลปากร ร่วมกับชุมชนและวัด การเก็บ สืบค้นข้อมูล การสร้างกิจกรรม ประเพณีบวงสรวงตามตำนานนิทานพื้นบ้าน ส่งผลต่อมิติด้านวัฒนธรรม เพื่อสืบสานตำนานนิทาน และตัวแทนของเรื่องราวต่างๆในตำนาน คือ ปราสาทนางบัวตูม