ชื่อแหล่ง : ปราสาทขุมดิน Prasat Khum Din
ขึ้นทะเบียน
09-04-2544
ประกาศในราชกิจจานุเบกษา
เล่มที่ 118 ตอนพิเศษ 33
ที่อยู่
บ้านขุมดิน ตำบลหนองหลวง อำเภอโนนนารายณ์ จังหวัดสุรินทร์
ละติจูด
15°13′12″องศาเหนือ
ลองจิจูด
103°55′12″ องศาตะวันออก
ประเภท
ปราสาทอิฐ
อายุ
พุทธศตวรรษที่ 16-17
วัตถุประสงค์
เทวสถาน
ทิศทางการวางตัว
3.5 องศาตะวันตก
ความสาคัญของแหล่ง
ปราสาทขุมดินตั้งอยู่ในบริเวณวัดปราสาทขุมดิน บ้านขุมดิน หมู่ 4 ตำบลหนองหลวง อำเภอโนนนารายณ์ จังหวัดสุรินทร์ บนเนื้อที่ประมาณ 2 งาน ฝ่ายวิชาการสำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ 9 นครราชสีมา รายงานการสำรวจขึ้นทะเบียนโบราณสถานปราสาทขุมดิน บ้านขุมดิน ตำบลหนองหลวง อำเภอโนนนารายณ์ จังหวัดสุรินทร์ ที่ดำเนินการสำรวจเมื่อปี พ.ศ. 2540 โดย นายดุสิต ทุมมาภรณ์ ต่อมาในปี พ.ศ. 2543 มีการสำรวจและทำแผนผังเพื่อการขึ้นทะเบียน โดยนายประพันธ์ เนื่องมัจฉา มีการระบุว่า “ปราสาทขุมดิน เป็นศาสนาสถานประเภทปรางค์, วิหาร, สระน้ำและคูน้ำคันดินโบราณ เป็นศาสนาสถานที่ใช้ประกอบพิธีกรรมทางศาสนา ลักษณะรูปแบบทางสถาปัตยกรรมเป็นกลุ่มอาคารปรางค์ประธาน วิหารตกแต่งด้วยชิ้นส่วนสถาปัตยกรรมหินทราย ได้แก่ ปราสาทจำลอง กลีบขนุนและทับหลัง เป็นต้น ศาสนาสถานมีคูน้ำและคันดินล้อมรอบ เว้นด้านทิศตะวันออก ถัดออกไปทางทิศตะวันตกและทิศเหนือมีแนวคันดินบรรจบกันเป็นมุมเหลี่ยมและทอดยาวไปยังทิศตะวันออกระยะทางประมาณ 300 เมตร จากตัวปราสาทสู่สระน้ำรูปสี่เหลี่ยมที่มีคันดินล้อมรอบ คือ หนองขุมดิน กำหนดอายุจากการศึกษารูปแบบลวดลายบนทับหลังหินทรายแสดงภาพวาดประทับนั่งอยู่ภายในซุ้มบนพาหนะและหน้าที่ค่ายท่องพวงมาลัย เป็นศิลปะเขมรสมัยบาปวนอายุสมัยราวพุทธศตวรรษที่ 16-17 (ราว พ.ศ. 1560-1630)” (ผู้เรียบเรียง :: สันนิษฐานว่าจะสร้างในคราวเดียวกับปราสาทวัดโพธิ์ศรีธาตุ บ้านธาตุ ตำบลธาตุ และปราสาทบ้านหนองหิน บ้านหนองหิน ตำบลดอนแรด และน่าจะเป็นชุมชนโบราณที่อยู่ในเส้นทางสัญจรของคนในยุคนั้น) สภาพปัจจุบันของปราสาทปรางค์ประธานและวิหารพังทลายเหลือจากฐานเหลือเรือนธาตุประมาณครึ่งองค์ คูน้ำคันดินที่ล้อมรอบปราสาทกว้างประมาณ 6 เมตร ตื้นเขิน สระน้ำหนองขุมดินที่อยู่ด้านหน้าปราสาทได้ถูกขุดลอกแล้วถือเป็นโบราณสถานร้าง ส่วนวัดปราสาทขุมดิน สันนิษฐานว่า ผู้สร้างคงตั้งชื่อวัดตามหลักฐานที่ปรากฏ คือ เจดีย์ หรือปราสาทหรือชื่อของหมู่บ้าน สำหรับผู้สร้างวัดนั้น ไม่ปรากฏว่าใครเป็นผู้สร้าง แต่มีหลักฐานการบูรณปฏิสังขรณ์ใหม่ คือเมื่อ พ.ศ. 2504 หลวงปู่คำภา ได้ธุดงค์ มาปักกลดจำพรรษาอยู่ 3 พรรษา ใช้เป็นสถานที่ประกอบศาสนากิจของชาวบ้านและไปๆ มาๆ จนมรณภาพเมื่อ พ.ศ. 2520 จากนั้นมีพระจากวัดสังฆนารามได้หมุนเวียนกันมาจำพรรษาและดูแลบูรณปฏิสังขรณ์เสนาสนะต่างๆ และดำเนินกิจกรรมทางศาสนาที่วัดปราสาทขุมดิน จนถึงปัจจุบัน ปัจจุบันวัดปราสาทขุมดิน ได้รับการพัฒนาให้มีความเจริญก้าวหน้าอย่างยิ่ง มีการก่อสร้างพระอุโบสถหลังใหม่ ขนาดใหญ่ มีการผูกพัทธสีมาฝังลูกนิมิต เมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2551 และทุกๆ ปี ในวันวิสาขบูชา ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ประชาชนจะมาร่วมกันทำบุญตักบาตรประเพณีประจำปี เรียกว่า “งานตักบาตรธาตุ”
หลักฐานทางโบราณคดี
1.ตัวปราสาท 2.โคปุระ 3.ทับหลัง
ปัจจัยการเปลี่ยนแปลง
ปราสาทขุมดิน เป็นปราสาทที่อยู่ภายในบริเวณวัดปราสาทขุมดิน มีการบูรณะเป็นระยะจากชุมชนและวัด มีการจัดการภูมิทัศน์บริเวณโดยรอบโบราณสถาน มีวัดทำหน้าที่เป็นผู้รับผิดชอบ ปัจจบันมีการปรับภูมิทัศน์บริเวณรอบโบราณในรูปแบบธรรมะสถานที่สวยงาม ปัจจัยการเปลี่ยนแปลง ด้านกายภาพ ปราสาทชุมดิน มีจัดการโดยชุมชนและวัด ทำให้การดำเนินการเป็นไปอย่างราบรื่น โดยที่ไม่กระทบกับโบราณสถาน จัดการป้ายระบุตำแหน่ง กิจกรรมต่างๆ ประจำปีที่ใช้พื้นที่บริเวณโบราณสถาน ถูกจัดการอย่างเหมาะสม ซึ่งส่งผลต่อปัจจัยด้านวัฒนธรรม เรื่องความเชื่อ หรือแนวคิดความศรัทธา ทำให้เกิดการอนุรักษ์และพัฒนาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน